เจ้าของผลงาน : นพ.ไชยพร โอภาสวัฒนา, นพ.ปิยพงษ์ บารุง
บทนำ: การเลือกผู้ป่วยอย่างเหมาะสมในการเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากจะสามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาในการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก
วัสดุและวิธีการ: การวิจัยแบบ retrospective study ทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก ในโรงพยาบาลมุกดาหาร ตั้งแต่ มกราคม พ.ศ. 2560 ถึง กันยายน พ.ศ. 2565 โดยเก็บข้อมูล ได้แก่ อายุ เพศ โรคประจำตัว ตำแหน่งที่ผ่าตัด ขนาดก้อน ผลชิ้นเนื้อ และระยะเวลาการผ่าตัด วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาการผ่าตัด โดยใช้ multiple linear regression analysis
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก 110 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 68 ราย (ร้อยละ 61.82) อายุเฉลี่ย 37.93 (+11.57) ปี ระยะเวลาในการผ่าตัดเฉลี่ย 132.03(±45.71) นาที ขนาดก้อนเฉลี่ย 3.67 (±2.19) เซนติเมตร การผ่าตัด total thyroidectomy 6 ราย (ร้อยละ 5.46) ผลชิ้นเนื้อเป็นมะเร็งไทรอยด์ 14 ราย (ร้อยละ 12.73) ระยะวลาเฉลี่ยของการผ่าตัด isthmectomy การผ่าตัด lobectomy และการผ่าตัด total thyroidectomy คือ 79.29(±24.05) นาที 134.72(±45.23) นาที และ 150(±34.06) นาที ตามลำดับ ระยะเวลาเฉลี่ยของการผ่าตัดเมื่อผลชิ้นเนื้อเป็นก้อนที่ไม่ใช่มะเร็ง และก้อนที่เป็นมะเร็งไทรอยด์ คือ 126.36 (±41.21) นาที และ 168.86(±54.38) นาที ตามลำดับ การวิเคราะห์โดย multiple linear regression analysis พบว่ามีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณเท่ากับ 0.607 ความสามารถร่วมกันพยากรณ์ระยะเวลาการผ่าตัด ร้อยละ 36.9 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยปัจจัยที่มีผลต่อทำให้ผ่าตัดช้าลง คือ ขนาดก้อนที่ใหญ่ (p <0.001) และผลชิ้นเนื้อเป็นมะเร็ง (P<0.001) ปัจจัยที่ทำให้ผ่าเร็วขึ้น คือ isthmectomy (P 0.008)
สรุป: ปัจจัยที่มีผลให้ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากช้าลง ได้แก่ ขนาดก้อนที่ใหญ่ และผลชิ้นเนื้อเป็นมะเร็ง ปัจจัยที่ทำให้ผ่าเร็วขึ้น คือ การผ่าตัด isthmectomy
คำสำคัญ: การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก, ระยะเวลาการผ่าตัด
เอกสารแนบ
ชนิดเอกสาร | ลิงค์ไฟล์เอกสาร |
---|---|
ลิงค์เอกสาร |