โรคซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง, โรงพยาบาลมุกดาหาร

เจ้าของผลงาน : นิโลบล พันธุวรรณ, พ.บ.

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความชุก และปัจจัยที่สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง โรงพยาบาลมุกดาหาร

 

วัสดุและวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ Prospective cohort study ในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน ตั้งแต่ มกราคม 2566 ถึง มกราคม 2567 โดยศึกษาข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางคลินิก ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ การคัดกรองภาวะโรคซึมเศร้า วิเคราะห์หาความชุกและปัจจัยที่สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า

 

ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการวิจัย 201 ราย เพศชาย 112 ราย (ร้อยละ 55.7) อายุเฉลี่ย 56.8(+11.9) ปี ระยะเวลาการล้างไตทางช่องท้องเฉลี่ย 33.8(+29.3) เดือน โรคร่วมความดันโลหิตสูง 182 ราย (ร้อยละ 90.6) และโรคเบาหวาน 101 ราย (ร้อยละ 50.3) พบความชุกของการเกิดโรคซึมเศร้า (PHQ-9≥ 7) จำนวน 23 ราย (ร้อยละ 11.4)  ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าผู้ป่วยที่มีโรคซึมเศร้า เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่มีโรคซึมเศร้า  มีระดับยูเรียสูงกว่า คือ 61.8 (+33.0) มก./ดล. กับ 47.4 (+17.8) มก./ดล. (p-value เท่ากับ .001) มีระดับอัลบูมินต่ำกว่า คือ 3.0 (+0.6) ก./ดล. กับ 3.3 (+0.5) ก./ดล. (p-value เท่ากับ .01) และมีระดับฟอสฟอรัสสูงกว่า คือ 4.4 (+2.5) มก./ดล. กับ 3.3 (+1.4) มก./ดล. (p-value เท่ากับ .001) อัตราการเสียชีวิตและการเปลี่ยนวิธีการบำบัดทดแทนไตทั้งสองกลุ่ม ไม่แตกต่างกัน

 

สรุป: ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง กลุ่มที่มีโรคซึมเศร้าพบว่ามีค่ายูเรียสูงกว่า อัลบูมินต่ำกว่า และค่าฟอสฟอรัสสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีโรคซึมเศร้า

 

คำสำคัญ: โรคซึมเศร้า ล้างไตทางช่องท้อง โรคไตวายเรื้อรัง

เอกสารแนบ

ชนิดเอกสาร ลิงค์ไฟล์เอกสาร
.pdf ลิงค์เอกสาร