การศึกษาขนาด ความเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า การกระจายแสงของเม็ดเลือดขาว ชนิดโมโนซัยท์ ในผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด โรงพยาบาลมุกดาหาร

เจ้าของผลงาน : นายยุทธพล มั่นคง

ความเป็นมา: การใช้ Volume Conductivity Scatter (VCS) parameters สามารถช่วยทำนายการการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดได้เร็วมากขึ้น จะเป็นประโยชน์สำหรับการดูแลผู้ป่วย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาขนาด ความเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า การกระจายแสง ของเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนซัยท์ ในผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด
วิธีการศึกษา: การศึกษาย้อนหลังเชิงวิเคราะห์ จากข้อมูลผลการตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรียจากเลือดและข้อมูลทางโลหิตวิทยา ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กันยายน พ.ศ. 2556 กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด 71 ราย และกลุ่มควบคุม จำนวน 71 ราย สร้างสูตร Monocyte Sepsis Index (MoSI) และวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดเป็นเพศชาย 36 ราย (ร้อยละ 50.7) อายุเฉลี่ย 55.4 (±13.9) ปี ติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 50 ราย (ร้อยละ 70.4) แบคทีเรียแกรมลบที่พบมากสามอันดับ ได้แก่ เชื้อ B. pseudomallei, E. coli และ E. coli (ESBL) คิดเป็นร้อยละ 29.6, 9.9 และ 9.9 ตามลำดับ มีค่า Monocyte Sepsis Index (MoSI) ค่า Mean Monocyte volume (MMoV) และค่าStandard deviation of mean Monocyte volume (SD-MMoV) เฉลี่ย 48.2 (±10.6), 196.0 (±15.4) และ 24.5 (±4.8) ตามลำดับ สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value < .001) เมื่อพิจารณาค่า Cut off ของ Monocyte Sepsis Index (MoSI) ค่า Mean Monocyte volume (MMoV) และค่าStandard deviation of mean Monocyte volume (SD-MMoV) ที่ 36.67, 180.27 และ 20.50 จะมีความไวในการทำนายการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด 90.10, 85.90 และ 85.90 มีความจำเพาะร้อยละ 78.90, 85.90 และ 78.90 พื้นที่ใต้กราฟ 0.948, 0.913 และ 0.906 ตามลำดับ
สรุป: การพิจารณาค่า Cut off ของ Monocyte Sepsis Index (MoSI) ค่า Mean Monocyte volume (MMoV) และค่าStandard deviation of mean Monocyte volume (SD-MMoV) ที่เหมาะสมจะช่วยทำนายการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดได้
คำสำคัญ: Monocyte Sepsis Index (MoSI), VCS parameters, Sepsis, Monocyte

เอกสารแนบ

ชนิดเอกสาร ลิงค์ไฟล์เอกสาร
.pdf ลิงค์เอกสาร