สาเหตุการปฏิเสธผู้บริจาคโลหิตในกระบวนการคัดกรองก่อนบริจาคโลหิต ณ งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมุกดาหาร

เจ้าของผลงาน : นางสาวยุพิน คงไพร

บทคัดย่อ

ความเป็นมา ความเพียงพอและปลอดภัยของโลหิตเป็นปัจจัยที่สำคัญ สำหรับประเทศไทยคุณสมบัติการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตต้องผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามคู่มือการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

วัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการปฏิเสธผู้บริจาคโลหิตจากกระบวนการคัดกรองผู้บริจาคโลหิตของงานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมุกดาหาร

วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาย้อนหลัง (retrospective study) ในข้อมูลการลงทะเบียนของผู้บริจาคโลหิต งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 รวมระยะเวลา 6 เดือน

ผลการศึกษา ผู้ลงทะเบียนบริจาคโลหิต 4,150 ราย เป็นผู้บริจาคโลหิตครั้งแรก 714 ราย (ร้อยละ 17.2) เป็นผู้บริจาคโลหิตประจำ 3,436 ราย (ร้อยละ 82.8) มีการปฏิเสธผู้บริจาคโลหิต 206 ราย (ร้อยละ 5.0) กลุ่มผู้บริจาคโลหิตครั้งแรกมีการปฏิเสธผู้บริจาคโลหิต 77 ราย (ร้อยละ 10.8) กลุ่มผู้บริจาคโลหิตประจำมีการปฏิเสธผู้บริจาคโลหิต 129 ราย (ร้อยละ 3.8) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <.05) การปฏิเสธผู้บริจาคโลหิตของผู้บริจาคโลหิตครั้งแรก พบเป็นเพศหญิง 57 ราย (ร้อยละ 15.8) เพศชาย 20 ราย (ร้อยละ 5.7) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <.05) การปฏิเสธผู้บริจาคโลหิตของผู้บริจาคโลหิตประจำ พบเป็นเพศหญิง 96 ราย (ร้อยละ 5.3) เพศชาย 33 ราย (ร้อยละ 2.1) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <.05) สาเหตุการปฏิเสธผู้บริจาคโลหิตในผู้บริจาคโลหิตครั้งแรกและผู้บริจาคโลหิตประจำ ส่วนใหญ่เกิดจากความเข้มข้นของเลือดไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 67.5 และ 72.1 ตามลำดับ

สรุป การปฏิเสธผู้บริจาคโลหิต คิดเป็นร้อยละ 5.0 พบในผู้บริจาคโลหิตครั้งแรกมากกว่าผู้บริจาคโลหิตประจำ พบในผู้บริจาคโลหิตเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สาเหตุที่พบมากที่สุดคือความเข้มข้นของเลือดไม่ผ่านเกณฑ์

คำสำคัญ การบริจาคโลหิต การปฏิเสธผู้บริจาคโลหิต

เอกสารแนบ

ชนิดเอกสาร ลิงค์ไฟล์เอกสาร
.pdf ลิงค์เอกสาร