โรงพยาบาลมุกดาหารร่วมประชุมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 - 2568

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น.

แพทย์หญิงกันตินันท์ มหาสุวีระชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมุกดาหาร เข้าร่วมประชุมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567-2568 โดยเร่งรัดพัฒนาสานต่อเดินหน้า ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทั่วประเทศ ทบทวนกฎหมายแก้ไขปัญหายาเสพติด ถ่ายโอน รพ.สต. ออกกฎหมาย อสม. ส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมืองและพื้นที่เฉพาะ พร้อมสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ดันกระทรวงออกจาก ก.พ.
โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 - 2568 อย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์
นโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 - 2568 ยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการสุขภาพและสาธารณสุขของประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เน้น ✅เสริมสร้างรากฐานระบบสาธารณสุข ด้วยเรื่องการแพทย์ปฐมภูมิ
✅การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาระบบ และ✅การส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยสุขภาพ โดยจะขับเคลื่อนนโยบาย "5+5 เร่งรัดพัฒนาสานต่อ" ได้แก่ 5 นโยบายเร่งรัดพัฒนา ประกอบด้วย
1.ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะเดินหน้าเชื่อมโยงข้อมูลทั้งประวัติการรักษาทั่วประเทศ การเบิกจ่ายค่าบริการรักษาผ่านระบบ Financial Data Hub (FDH) เน้นบริการเจาะเลือดใกล้บ้าน นัดหมายออนไลน์ บริการส่งยาผ่าน Health Rider และทางไปรษณีย์ เพื่อลดความแออัดและลดการรอคอย รวมถึงการใช้ Thailand Health Atlas เข้าถึงกลุ่มเปราะบางในชุมชน
2.ยาเสพติด จะทบทวนกฎกระทรวงฯ กำหนดปริมาณยาเสพติดที่สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเพื่อการแพทย์ รวมถึงยกระดับการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดและมินิธัญญารักษ์
3.การแพทย์ปฐมภูมิ เน้นบูรณาการภารกิจถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เดินหน้าออก พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ Smart อสม. กองทุนสุขภาพตำบล สนับสนุนการดำเนินงานสาธารณสุขท้องถิ่น ควบคุมและป้องกันวัณโรคและไข้เลือดออกเชิงรุก
4.เศรษฐกิจสุขภาพ เน้นเสริมสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสุขภาพ ยกระดับการขออนุมัติ/อนุญาตผ่าน E-Service การเป็นศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง (ATMPs) ยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างงานสร้างอาชีพ และจัดตั้งหน่วยงานขับเคลื่อนภารกิจเศรษฐกิจสุขภาพ
5.เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาลและปริมณฑล สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ปรับโฉมโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ มีระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ และรถโมบายโรคหลอดเลือดสมอง
นโยบายสานต่อ ประกอบด้วย
1.โครงการพระราชดำริฯ / เฉลิมพระเกียรติ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ 4 โครงการ คือ โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ, โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ, โครงการยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง และโครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ฯ
2.การสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร เน้นการสื่อสารสร้างความสัมพันธ์บุคลากร ผู้ป่วยและญาติ ปรับปรุงบ้านพักบุคลากรสาธารณสุข ลดภาระงาน ลดภาระหนี้สินของบุคลากร และการนำกระทรวงสาธารณสุขออกจาก ก.พ.
3.ส่งเสริมสุขภาพกาย/สุขภาพจิต จะเชิญชวนประชาชนออกกำลังกายทุกวันจันทร์ การเข้าถึงจิตแพทย์และนักจิตวิทยาใกล้บ้าน /ตรวจรักษาจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) จัดตั้งหน่วยงานบูรณาการดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติด และจัดตั้งกองทุนบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด
4.สถานชีวาภิบาล เดินหน้าผลิตผู้ดูแลผู้ป่วย (Caregiver) ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน (Home Ward/Hospital at Home) และจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลทุกอำเภอทั่วประเทศ และ
5.ทุกคนปลอดภัย จะยกระดับระบบดิจิทัลในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค การจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขทุกมิติ ยกระดับบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยวิกฤตอย่างครอบคลุม (UCEP) และจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยนักท่องเที่ยว
ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี